แพะท้องอืดทำยังไง สาเหตุแพะท้องอืด กินยาอะไรถึงหาย วิธีรักษา แพะท้องป่อง เบกกิ้งโซดารักษาแพะท้องอืด การเจาะท้องแพะ

เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะหลายๆท่านอาจจะประสบปัญหาในเรื่องแพะท้องอืด และไม่สามารถแก้ไขปัญหาตรงส่วนนี้ได้เพราะบางท่านอาจจะเป็นเป็นมือใหม่ที่พึ่งหัดเลี้ยง หรือบางท่านพบปัญหาแล้วไม่ทราบวิธีการแก้ที่ชัดเจน เพราะไม่ทราบว่าแพะท้องอืดแล้วจะต้องทำยังไง สาเหตุเกิดจากอะไร แล้วให้แพะกินยาอะไรถึงจะหาย ดังนั้นเราจึงพามาศึกษาไปพร้อมๆกันในบทความนี้เลยจ้า

แพะท้องอืดทำยังไง

ปัญหาโรคท้องอืดในแพะเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยในการเลี้ยงแพะซึ่งถ้าแก้ไขไม่ทันอาจทำให้เกิดการสูญเสียได้ โรคท้องอืดอาจมาจากปัญหา การให้อาหารข้นในมากพอที่จะทำให้เกิดแก๊สสะสมในขยะเป็นปริมาณมาก เกิดการอุดตันของอาหารทำให้แก๊สไม่สามารถระบายไปตามทางเดินอาหารได้

วิธีการลดอาการแพะท้องอืดทำยังไง

  1. คุณต้องแน่ใจว่าแพะของคุณท้องอืด ไม่ได้เกิดจากกินอาหารเป็นพิษ
  2. จากนั้น กรอกน้ำมันพืช เพื่อลดการเกิดแก๊สในกระเพาะ ไม่ให้เพิ่มมากขึ้น
  3. กดท้องของแพะบริเวณสวาบด้านซ้าย ให้ยุบลง ค่อยๆ กด
  4. โดยจะกดแบบให้แพะนอนเอาด้านซ้ายขึ้นแล้วกด หรือ จะยืนพิงผนัง ให้ด้านซ้ายออกด้านนอก ใช้เข่าของคุณกดตรงสวาบให้ยุบลง
  5. ทำการกดแล้วปล่อย ทำซ้ำๆประมาณ 5-6 ครั้ง เพื่อให้น้ำมันที่กรอกเข้าไปได้กระจายในกระเพาะ และเป็นการไล่แก๊สออกบางส่วนด้วย
  6. จากนั้นปล่อยให้แพะยืนหรือเดิน ห้ามนอนเด็ดขาด เพราะจะทำให้ไปกดกระบังลม แพะจะหายใจไม่ออก
  7. คุณอาจจะใช้ยาธาตุน้ำแดงหรือยาธาตุน้ำขาวกรอก เพื่อช่วยให้แพะเรอแก๊สออกมา และช่วยกดท้องให้แพะอีก 2-3 ครั้ง
  8. พัก 5-10 นาที จากนั้นให้ทำการกรอกน้ำมันพืชซ้ำ แล้วทำการกดท้องอีกครั้ง โดยทำการกดแล้วปล่อย 5-6 ครั้ง ปล่อยให้เดินหรือยืน
  9. อาจจะใช้ยาช่วยย่อย เฮปปาเจน ฉีดเข้ากล้ามเนื้อคอลึกๆปริมาณ 3-5 ซีซี

แพะท้องอืดอาการโคม่าต้องทำยังไง

ถ้าพบว่าแพะเป็นหนักถึงขนาดท้องโป่งแข็งมาก กดไม่ลง หายใจรวยระริน ให้เลือกทำตามขั้นตอนดังนี้

รูปแบบที่ 1

  1. ใช้สายยางวัดระดับน้ำขนาดประมาณนิ้วก้อย ทาด้วยน้ำมันพืชเพื่อให้หล่อลื่น สอดเข้าปากแพะให้ถึงกระเพาะหมักรูเมน
  2. การตรวจว่าถึงกระเพาะหมักหรือไม่ ให้ดึงสายยางวัดจากปากถึงสวาบ แล้วทำสัญลักษณ์ไว้
  3. เมื่อสอดเข้าไปในปากให้สอดจนถึงจุดที่ทำสัญลักษณ์ไว้ เมื่อสอดสายยางเข้าถึงกระเพาะแล้ว ค่อยๆ กดท้องไล่แก๊สออก อาจมีน้ำเขียวๆ ออกมาด้วยพร้อมแก๊ส ให้กดเรื่อยๆ จนกว่าท้องจะยุบเป็นปกติ
  4. ปล่อยทิ้งไว้สักระยะให้มั่นใจว่า แก๊สจะไม่เกิดซ้ำขึ้นอีก ถอดสายยางออก
  5. กรอกน้ำมันพืชซ้ำ และฉีดยาเฮปปาเจน 3-5 ซีซี ปล่อยให้แพะยืนหรือเดิน แล้วเฝ้าดูอาการ จนเห็นว่า ถ่ายได้ เคี้ยวเอื้อง และกินอาหารได้ จึงจะปลอดภัย

รูปแบบที่ 2

  1. ใช้เข็มฉีดยา เบอร์ 18 เข็มยายาว 5 นิ้ว ปักบริเวณสวาบด้านซ้าย 1-2 เข็ม ให้จมสุดเข็ม
  2. วิธีการปักเข็ม ให้มือกดท้องให้ยุบลง แล้วปักเข็มให้จม มือที่กดอย่าปล่อย ให้กดลงเรื่อยๆ เพื่อระบายแก๊สออกมา กดจนกว่าแก๊สจะออกหมด
  3. ให้กดคาไว้สักพัก ค่อยดึงเข็มออก
  4. ให้ทำการกรอกน้ำมันพืชซ้ำ และฉีดเฮปปาเจน 3-5 ซีซี ปล่อยให้แพะยืนหรือเดิน แล้วเฝ้าดูอาการ จนเห็นว่า ถ่ายได้ เคี้ยวเอื้อง และกินอาหารได้ จึงจะปลอดภัย

สาเหตุแพะท้องอืด

อาหารที่มีโปรตีนสูง พลังงานสูง หรือมีเยื่อใยต่ำ

  • ทำให้จุลินทรีย์ที่ทำงานผลิตแก๊สออกมามากทำให้กระเพาะหมักระบายแก๊สไม่ทันและเกิดท้องอืด
  • แก๊สที่สะสมในกระเพาะหมักจะไปดันกระบังลม ทำให้ปอดทำงานไม่ได้หายใจไม่ได้
  • แพะที่ตายจากสาเหตุนี้ จะมีลักษณะอาการนอนท่าราบ ขาเหยียดตรง ลิ้นจุกปาก พบการตายจากสาเหตุนี้มากที่สุด

ท้องอืดจากการกินสารพิษ

  • โดยจะทำให้จุลินทรีย์ตาย แก้โดย ใช้ยา อาโทรฟิน และคอเฟ
  • หลังจากนั้นระบายแก๊สออกอาจใช้สายยางก็ได้และก็ใช้สายยางนี้ดูดน้ำหมักในกระเพาะตัวอื่นมาใส่ จะทำให้แพะฟื้นตัวไวขึ้น

ท้องอืดเนื่องจากกระเพาะหมักไม่บีบตัว

  • จะสามารถตรวจได้โดยการเอาหูไปแนบกับกระเพาะหมักที่อยู่ทางด้านซ้าย จะได้ยินเสียงเหมือนฟ้าร้อง 1 นาที จะดัง 2 ครั้ง
  • แต่การที่กระเพาะไม่บีบตัว อาจเกิดจากสารพิษหรือโดนอะไรทิ่มแทงได้ ก็รักษาตามอาการ

เกิดจากการกินสิ่งแปลกปลอมที่ย่อยไม่ได้

  • ยกตัวอย่างเช่นถุง กระสอบอาหาร เชือก สายไฟ สายยาง ถุงมือ และอื่นๆ อีกมากมาย
  • เมื่อแพะกินเข้าไป จะถูกกระเพาะหมักบีบรวมกันเป็นก้อนหลังจากนั้นก็จะเข้าไปอุดที่ระบบทางเดินอาหารของแพะ
  • ทำให้การระบายแก๊สที่เกิดขึ้น ไม่ดีพอเกิดเป็นท้องอืด หรือ อาหารไม่สามารถผ่านไปกระเพาะต่อไปไม่ได้
  • อาหารแห้งเพราะว่าน้ำผ่านไปหมดแล้ว ก็จะรวมก้อนกันเป็นก้อนแข็งๆ

ปัญหาอาหารไม่ย่อย

1.อาการท้องอืด

  • โดยปกติแล้วมักไม่ค่อยเป็นในแพะ แต่จะพบเสมอในโค-กระบือและแกะ
  • สาเหตุเกิดจากการกินต้นพืชอ่อนๆ จำนวนมากเกินไป จึงทำให้เกิดเป็นแก๊สขึ้นในกระเพาะหมักรูเมนอย่างรวดเร็ว และอาจทำให้สัตว์ตายอย่างกะทันหันได้
  • โดยทั่วไปจะพบหลังจากที่ปล่อยสัตว์ลงแปลงหญ้าอ่อน หรือแปลงต้นข้าวโพดอ่อนในฤดูฝน
  • สัตว์จะมีอาการท้องด้านซ้ายขยายใหญ่ขึ้นผิดปกติ เนื่องจากแก๊สหรือฟองอาหารในกระเพาะหมักรูเมนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและแน่นกระเพาะ
  • ซึ่งสัตว์ไม่สามารถเรอออกมาได้ สัตว์กระวนกระวาย หายใจไม่สะดวก ล้มลงนอนทันที ขาทั้งสี่เหยียดและตายเนื่องจากหายใจไม่ออก
  • การรักษา โดยการใช้น้ำมันพืช ขนาด 4-8 ออนซ์ กรอกปากหรือจะใช้วิธีการเจาะสวาปด้านซ้ายตรงกระเพาะหมักของสัตว์ก็ได้ เพื่อระบายแก๊สออกจากกระเพาะให้เร็วที่สุด จะได้หายใจสะดวกขึ้น
  • โรคลำไส้อักเสบเป็นพิษ มักพบเป็นโรคแทรกซ้อน หรือเกิดร่วมกับโรคท้องอืดเสมอๆ
  • อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการท้องอืดก็คือการสำลักหรืออุดตันของอาหาร ในหลอดอาหาร
  • การแก้ไขอาการอุดตันทำได้โดยการใช้ท่อสอดกระเพาะอาหาร และเทน้ำมันพืช ประมาณ 2 ออนซ์ เข้าไปเหนือบริเวณที่อาหารอุดตัน

2.อาการอาหารไม่ย่อยและอัดแน่นในกระเพาะ

  • ปัญหาการอัดแน่นในกระเพาะแรก หรืออาหารย่อยได้บ้างไม่ได้บ้างแบบเรื้อรังนี้ เกิดขึ้นกับแพะนมบ่อยครั้ง
  • เนื่องจากแพะได้รับอาหารที่มีคุณภาพต่ำ มีโปรตีนและพลังงานไม่เพียงพอ
  • อาการที่สังเกตได้คือ ท้องจะแข็งตึง หยุดเคี้ยวเอื้อง และมีร่างกายทรุดโทรมอ่อนแอ ในที่สุดก็ตาย
  • สำหรับในลูกแพะจะพบว่ามีนมจับกันเป็นก้อนใหญ่ในกระเพาะ
  • การแก้ไขปัญหาอาหารไม่ย่อยแบบเรื้อรังนี้ ทำได้โดยการจัดการเกี่ยวกับอาหาร และการให้อาหาร
  • จะต้องให้อาหารที่มีโปรตีนและพลังงานเพียงพอกับความต้องการของแพะ การเปลี่ยนอาหารก็จะต้องค่อยเป็นค่อยไปและต้องให้อาหารตรงต่อเวลาด้วย
  • ผู้เลี้ยงสัตว์ควรคำนึงอยู่เสมอว่า การเกิดความเครียดของสัตว์นั้นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกายเกิดอาการผิดปกติได้เสมอ

3.แผลในกระเพาะแท้

  • การเกิดแผลในกระเพาะแท้ ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่พบได้ในแพะ โดยเฉพาะในแพะฤดูแห้งแล้ง หรืออาหารสัตว์มีไม่เพียงพอ
  • แพะก็จะได้รับอาหารไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงทำให้เกิดแผลในกระเพาะแท้ขึ้นได้ เพราะในกระเพาะมีสภาพเป็นกรดมากนั่นเอง
  • อาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่แพะได้รับอาหารจำพวกเมล็ดพืชมาก และพืชหญ้าแห้งหรือหญ้าสดน้อยในระยะให้นม
  • แผลในกระเพาะแท้ที่เกิดขึ้นอาจทำให้กระเพาะทะลุและสัตว์ตายได้ เนื่องจากการเสียเลือด หรือเยื่อบุของท้องอักเสบอย่างรุนแรง

การแสดงอาการท้องอืดในสัตว์เคี้ยวเอื้อง

  • สัตว์จะแสดงอาการท้องโป่งด้านซ้ายแข็งกดท้องจะแน่น
  • สัตว์จะแสดงอาการเดินยืดตัว หลังแอ่น จะนอนและลุก ทำเช่นนี้บ่อยๆ และจะมีเสียงเบ่ง คล้ายสัตว์จะคลอดลูก
  • ต่างกันที่สัตว์ท้องอืด ท้องจะโป่งโดยเฉพาะสวาบด้านซ้าย โป่งคล้ายลูกโป่ง กดแล้วจะแน่นแข็งๆ
  • ถ้าไม่มีการแก้ไขสัตว์จะตัวเกร็งจนชักตายในที่สุด
  • ปัญหาการเกิดท้องอืด เกิดจากการสะสมแก๊สในทางเดินอาหารของสัตว์และสัตว์ไม่สามารถขับออกมาได้ เนื่องจากมีแก๊สเกิดขึ้นมากผิดปกติ หรือแก๊สเกิดปกติแต่สัตว์ไม่สามารถเรอเอาแก๊สออกมาได้
  • สาเหตุ ของการเกิดแก๊สในกระเพาะ สัตว์ได้รับอาหารพวกถั่วสูงเกินไป
  • สัตว์ได้รับพืชใบเลี้ยงคู่หรือตระกูลถั่วในจำนวนมาก ซึ่งพืชเหล่านั้นจะมีโปรตีนที่ละลายได้ง่ายสูง
  • ทำให้สารละลายในกระเพาะหมัก เกิดแรงตึงผิวสูง เมื่อเกิดแก๊สจากกระบวนการหมักจึงดันของเหลวให้เกิดเป็นฟองอากาศเหมือนฟองสบู่ที่ข้นและเหนียว แตกตัวยากหรือไม่ยอมแตก
  • จนเป็นเหตุให้ฟองอากาศสะสมขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลทำให้ท้องอืด
  • สัตว์ได้รับหญ้าอ่อนหรือยอดอ่อนมาก เวลาสัตว์กินหญ้าอ่อนมักจะกินเร็ว ในหญ้าอ่อนมีสารในโปรตีนที่เรียกว่า Soluble protein สูง ซึ่งเป็นตัวให้เกิดฟอง
  • การเปลี่ยนสูตรอาหารเร็วเกินไป โดยเฉพาะอาหารข้น ทำให้จุลินทรีย์ปรับตัวไม่ทันเกิดอาการอาหารไม่ย่อย

แพะท้องอืดกินยาอะไรถึงหาย

เมื่อแพะของท่านเกิดอาการท้องอืดเราไม่สามารถตอบได้ว่าให้กินยาตัวไหนแล้วแพะจะหายอาการท้องอืด การรักษาอาการท้องอืดในแพะนั้นขึ้นอยู่กับว่าเราพบแพะในระยะไหน ระยะที่เริ่มต้น หรือระยะที่รุนแรงจนรักษาไม่ได้ ดังนั้นเราจึงนำวิธีการข้างต้นในการรักษาแพะท้องอืดมาบอกกันตามนี้เลยจ้า

  1. ใช้น้ำมันพืชกรอกปาก 10 ซีซี แล้วกดท้องตรงสวาบด้านซ้ายค่อยๆ กดแล้วปล่อยทำซ้ำๆ
  2. ให้พยุงหัวขึ้นหรือหนุนหัวขณะกดท้อง กรอกน้ำมันพืชซ้ำอีก 10 ซีซี แล้วกดท้องซ้ำๆ อีก จนท้องนิ่มปกติ รอดูอาการ 5-10 นาที
  3. ถ้าสัตว์คลายตัวเริ่มเดินปกติหรือเห็นถ่ายขี้ออกมา ถือว่าปลอดภัย ให้กรอกน้ำมันพืชอีกครั้ง 10 ซีซี
  4. ถ้าหากอาการไม่ดีขึ้นใช้สายยางที่ใช้วัดระดับน้ำตัดยาวประมาณ 70-80 เซนติเมตร ค่อยๆ สอดเข้าทางปากให้สอดจนถึงกระเพาะหมัก จากปากถึงสวาบด้านซ้าย แล้วทำเครื่องหมายไว้ เวลาสอดเข้าไปให้ถึงจุดที่ทำเครื่องหมายไว้
  5. จากนั้นให้กดท้อง แก๊สจะออกมาพร้อมน้ำเขียวๆ ที่ปลายสายยาง ให้ทำการกดจนท้องนิ่มปกติ จึงถอดสายยางออก ตามด้วยการกรอกน้ำมันพืช 20-30 ซีซี

วิธีการใช้ยาฉีดแก้ท้องอืด

ฉีดรูมิเซน-Rumicen

สรรพคุณ

  • Simethicone ออกฤทธิ์ ลดแรงตึงผิวของฟองก๊าซ ทำให้ฟองก๊าซขนาดเล็กแตกตัวกลายเป็นก๊าซอิสระที่สัตว์สามารถขับออกจากร่างกายได้
  • Calcium saccharate ช่วยลดความเป็นกรดในกระเพาะ ทำให้ลดการเกิดก๊าซใหม่เพิ่มขึ้น
  • Pilocarpine Hydrochloride ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ช่วยให้กระเพาะอาหาร และลำไส้บีบตัว ขับก๊าซส่วนเกินออกจากร่างกาย และช่วยให้อาหารในกระเพาะรูเมนเคลื่อนตัวไปสู่กระเพาะต่อไป

การออกฤทธิ์ของยา

  • จากคุณสมบัติของส่วนประกอบต่างๆ ในสูตรยา รูมิเซน จะช่วยลดความหนืดของของเหลว และสารอาหารในกระเพาะรูเมน รวมทั้งแรงตึงผิว
  • ยา รูมิเซน จะสามารถลดฟองก๊าซ โดยเฉพาะในรายของพยาธิสภาพของกระบวนการเกิดฟองก๊าซ
  • จากการออกฤทธิ์ของ Pilocarpine Hydrochloride ที่มีผลต่อระบบประสาทชนิด parasympatrotic ทำให้กระเพาะมีการเคลื่อนไหวด้วยการบีบตัวร่วมกับฤทธิ์ของ Calcium saccharate ไปขับอาหารออก และช่วยดูดซึมสารพิษ
  • เมื่อพบว่าสัตว์เริ่มมีอาการท้องอืด ให้รีบป้อน รูมิเซน ให้กินทันที หลังจากนั้นจูงเดินเพื่อให้สัตว์ขับก๊าซที่แตกตัวจากฟองอากาศออกมา

ข้อดีของ รูมิเซน

  • ผู้เลี้ยงสามารถป้อนได้เองทันทีที่พบว่าสัตว์เริ่มมีอาการท้องอืด
  • ทำให้สามารถรักษาได้รวดเร็วโดยที่อาการไม่ทรุดหนักลง ลดการสูญเสียจากการตาย เนื่องจากให้การรักษาล่าช้า และไม่ตกค้างในเนื้อ หรือน้ำนม ทำให้สามารถส่งนมได้ตามปกติ

ข้อบ่งใช้

  • ใช้ในกรณีที่เกิดโรคท้องอืดชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง
  • กระเพาะไม่มีการเคลื่อนตัว อาหารไม่ย่อยเพราะกระเพาะไม่มีการเคลื่อนไหว
  • เกิดสภาพเป็นกรดและด่าง และเกิดความผิดปกติต่อกระเพาะรูเมน

ขนาดและวิธีใช้

  • ให้ยาโดยการกินหรือฉีด ซึ่งปริมาณของยาจะขึ้นอยู่กับชนิดของสัตว์ต่างๆ
  • แพะ แกะ   25   มิลลิลิตร
  • ให้โดยการกิน นำยาตามขนาดที่ใช้เบื้องต้นไปเจือจางกับน้ำ 1 ลิตร หรือตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ กรอกให้สัตว์กิน หรือให้โดยผ่านสายยางสอดเข้าหลอดอาหารโดยตรง
  • ให้โดยการฉีด ใช้ในกรณีเกิดโรคท้องอืดเฉียบพลัน ฉีดยาในปริมาณที่กำหนดเข้าไปในกระเพาะรูเมน โดยฉีดทางบริเวณสวาปด้านซ้าย

ฉีด Hepagen เฮปปาเจน

สรรพคุณ

  • ใช้เป็นยากระตุ้นให้ตับผลิตน้ำดีให้มากขึ้น ยานี้ใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เข้าช่องท้อง และฉีดช้า ๆ เข้าเส้น
  • เป็นยาที่เหมาะสำหรับใช้ในการรักษาอาการที่เกิดร่วมกับโรคตับ มีสรรพคุณต่ออาการที่เกี่ยวเนื่องกับตับ มีฤทธิ์ในทางขับน้ำดี ช่วยกระตุ้นตับให้มีการผลิตน้ำดีให้มากขึ้น และยังมีสรรพคุณบรรเทาปวด และลดอาการหดเกร็งของท่อน้ำดี
  • ยาเฮปปาเจนออกฤทธิ์โดยตรงต่อตับ ช่วยเพิ่มการขับน้ำดีโดยเซลเฮปปาโตไซท์ในตับ
  • ช่วยเพิ่มการทำงานของอวัยวะที่เกี่ยวข้อง กับขบวนการย่อยอาหาร ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำย่อยของตับอ่อน และน้ำย่อยเป็ปซินในกระเพาะ
  • ยานี้จะออกฤทธิ์โดยตรงต่อต่อมที่มีหน้าที่ในการขับน้ำย่อย แต่ไม่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท – พาราซิมพาธิติค

ข้อบ่งใช้

  • โดยทั่วไป อาการอาหารไม่ย่อยและไม่ถูกดูดซึม อาหารเป็นพิษ-คีโตซีส
  • เบื่ออาหาร ท้องอือท้องเฟ้อ
  • ใช้เป็นยาช่วยในการรักษาอาการที่มีพยาธิในกระเพาะและลำไส้

ขนาดและวิธีใช้

  • ใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อลึก ๆ ฉีดเข้าช่องท้อง หรือฉีดช้า ๆ เข้าเส้น
  • แกะ แพะ สุนัข ใช้ยา 1 ซีซี ต่อน้ำหนักตัว 10 กิโลกรัม
  • ขนาดยานี้ อาจให้ซ้ำได้ทุก ๆ 24 ชั่วโมงตามคำสั่งสัตวแพทย์

ข้อควรระวัง

  • ยาเฮปปาเจน ห้ามใช้ผสมกับน้ำยาพวกที่มีส่วนประกอบของเกลือแคลเซียม

วิธีรักษา แพะท้องป่อง

การรักษาอาการเบื้องต้นโดยวิธีดังต่อไปนี้

การใช้ยาฉีดแก้ท้องอืด

  1. ฉีดรูมิเซน-Rumicen เข้าสวาบด้านซ้ายให้ทะลุถึงกระเพาะหมัก
  2. ฉีดHepagen เฮปปาเจน เข้ากล้ามเนื้อส่วนที่แผงคอลึกๆ
  3. ใช้สายยางที่ใช้วัดระดับน้ำตัดยาว สอดเข้าทางปากให้สอดจนถึงกระเพาะหมัก ตามด้วยการกรอกน้ำมันพืช 20-30 ซีซี
  4. ใช้น้ำมันพืชกรอกปาก 10 ซีซี แล้วกดท้องตรงสวาบด้านซ้าย

เบกกิ้งโซดารักษาแพะท้องอืด

เบกกิ้งโซดา หรือโซเดียมไบคาร์บอเนต มีความเป็นเบส ที่จะทำหน้าที่ปรับ pH ของกระเพาะหมักทำให้เป็นกลาง ลดการผลิตแก๊ส

  • การใช้เบกกิ้งโซดาปรับความเป็นกรดโดยใช้ 2 ช้อนชา
  • นำมาผสมน้ำประมาณขวดลิโพกรอกให้กิน รวมกับการสอดสายยางก็จะได้ผลไวขึ้น

การเจาะท้องแพะ

กรณีเป็นหนักมากต้องแก้วิธีเร่งด่วน

  • ให้ใช้ trocar cannula หรือเหล็กกลวงก้านร่มตัดเป็นปากฉลามเหลาให้แหลม
  • ทำความสะอาดเช็ดแอลกอฮอร์ที่ปลายเหล็กก่อนแทง จากนั้นแทงตรงสวาบด้านซ้ายถึงกระเพาะ ปักคาไว้
  • ถ้าไม่มี trocar cannula ให้ใช้เข็มเบอร์ใหญ่สุดแทนได้ เบอร์ใหญ่ที่ขายทั่วๆไป คือเบอร์ 18 ให้ปักคาไว้หลายๆ เข็มที่สวาบด้านซ้ายจนจมเข็มประมาณ 4-5 เข็ม
  • ใช้มือกดเบาๆ แก๊สจะพุ่งออกตามรูเข็ม เมื่อท้องยุบลงแล้ว ให้กรอกน้ำมันพืชอีก 10 ซีซี ป้องกันการเกิดแก๊สซ้ำ

การป้องกันแพะท้องอืด

  1. แพะเนื้อ เมื่อเสริมด้วยอาหารข้นสำเร็จรูป ให้อาหารข้นในอัตรา ไม่เกิน 1% ของน้ำหนักตัวต่อ หากอาหารหยาบมีความสมบูรณ์ดีแล้ว (ดูจากคะแนนสภาพร่างกาย) ก็ไม่จำเป็นต้องให้อาหารข้นเสริม
  2. แบ่งอาหารข้นออกเป็น 2-3 มื้อต่อวัน
  3. อย่าให้อาหารข้นแบบตั้งทิ้งไว้ตลอดเวลาหรือสับบดละเอียด ดังเช่นที่พบในกรณีตัวอย่างสัตว์ป่วยนี้ซึ่งเกษตรกรให้ลำต้นสาคูขูดผสมกับรำตั้งทิ้งไว้ให้กินตลอดเวลา
  4. ปรับปริมาณอาหารข้นที่มีแป้งมากให้มีปริมาณเหมาะสม
  5. ให้อาหารหยาบก่อนที่จะให้อาหารข้น
  6. ลดผลกระทบจากสภาพเสี่ยงที่จะทำให้เกิดสภาวะเป็นกรดในกระเพาะ อาจให้ sodium bicarbonate หรือ calcium carbonate ผสมลงในอาหารข้น 5–2%