สูตรอาหารแพะ อาหารข้นแพะอัดเม็ด อาหารหยาบแพะ อาหารTMR แพะเนื้อ แพะนม แพะขุน อาหารแพะลดต้นทุน

Table of Contents

สูตรอาหารแพะคืออะไร?

สูตรอาหารแพะ คือ การนำเอาวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น กากถั่วเหลือง ข้าวโพด มันสำปะหลัง  รวมไปถึงวิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ มาผสมรวมกัน เพื่อให้ได้คุณค่าทางโภชนาการในสูตรอาหารนั้น ตามความต้องการหรือไกล้เคียงที่สุดที่แพะต้องการ

อาหารแพะ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท

  • อาหารข้น
  • อาหารหยาบ
  • อาหาร TMR

อาหารข้นแพะ

อาหารข้นแพะ คือ อาหารที่มีเยื่อใยต่ำ มีพลังงานและโปรตีนสูง เป็นอาหารที่ได้จากการผสมวัตถุดิบอาหารสัตว์หลายชนิด หรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ข้าวโพด กากถั่วเหลือง ปลายข้าว เป็นต้น

ความสำคัญของอาหารข้น

ถึงแม้ว่าแพะจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยการกินหญ้าและพืชอาหารตามธรรมชาติ แต่การเสริมอาหารข้นก็เป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังให้ผลผลิต เพื่อให้แพะได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอต่อการสร้างผลผลิตได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากพืชอาหารตามธรรมชาติมักมีคุณภาพและปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการ

อาหารแพะอัดเม็ด หรืออาหารแพะสำเร็จรูป

“อาหารแพะอัดเม็ด หรืออาหารแพะสำเร็จรูป” คือ อาหารที่ได้จากการผสมวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพื่อให้ได้สารอาหารตามที่แพะต้องการ แล้วนำมาผ่านหระบวนการอัดเม็ด

การผลิตอาหารแพะอัดเม็ด

การผลิตอาหารแพะอัดเม็ดต้องใช้วัตถุดิบที่ผลิตได้เองในประเทศเป็นสวนผสมหลัก เช่น รำาข้าว ปลายข้าว ข้าวโพด ข้าวฟาง มันสำปะหลัง ปลาป่น กากถั่วเหลเป็นต้น ทั้งนี้ต้องผสมวิตามิน แร่ธาตุต่าง ๆ เข้าไปในสูตรด้วย

ตัวอย่างสูตรอาหารแพะอัดเม็ดโดยใช้กากมันหมักยีสต์สด

กากมันหมักยีสต์สด 30  กก.

รำละเอียด               20  กก.

กากถั่วเหลือง            5   กก.

ข้าวโพดบด              35  กก.

ปลายข้าว                 5    กก.

ไดแคลเซียม             2.5 กก.

เกลือป่น                    2   กก.

พรีมิกซ์                   0.5  กก.

รวม                         100 กก.

 

วิธีการทำอาหารข้นแพะอัดเม็ดโดยใช้กากมันหมักยีสต์สด

  1. ผสมวัตถุดิบอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ ที่เตรียมไว้ให้เข้ากัน
  2. นำกากน้ำตาล 5 ลิตร ผสมกับน้ำ 25 ลิตร
  3. นำกากมันหมักยีสต์ ผสมกับกากน้ำตาลที่ผสมกับน้ำไว้แล้ว
  4. เทส่วนผสมที่ผสมไว้แล้วในตอนแรก ลงในเครื่องผสมอาหาร
  5. นำกากมันหมักยีสต์ ที่ผสมกับกากน้ำตาลไว้ เทลงไปในถังผสมอาหารค่อย ๆ เทให้ทั่วถึง
  6. ใช้เครื่องผสมทำงานผสมวัตถุดิบให้เข้ากัน อย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้วัตถุดิบผสมเข้ากันอย่างสม่ำเสมอ
  7. นำส่วนผสมที่ได้จากเครื่องผสมมาเทลงในเครื่องอัดเม็ด ก็จะได้อาหารที่เป็นเม็ดออกมา
  8. ขั้นตอนสุดท้ายนำมาตากในที่โล่ง หรือถ้าตากในที่ร่มก็ได้ ให้ได้ความชื้นไม่เกิน 14 % เพื่อที่จะเก็บรักษาไว้ไม่ให้เกิดเชื้อรา

อาหารหยาบแพะ

อาหารหยาบแพะ คือ อาหารที่ให้เยื่อใยสูง หญ้าสด หญ้าแห้ง พืชตระกูลถั่ว ใบไม้พืชผักต่าง ๆ ผลพลอยได้หรือเศษเหลือจากการเกษตร เช่น ฟางข้าว เปลือกข้าวโพดฟักอ่อน ต้นข้าวโพดหลังจากเก็บฝัก เปลือกสับปะรด เปลือกถั่วเหลือง และเปลือกถั่วลิสง รวมไปถึงอาหารหยาบที่สามารถจัดทำขึ้นได้เอง เช่น หญ้าหมัก เป็นต้น

ประเภทของพืชหญ้าต่าง ๆ

  • พืชตระกูลหญ้า เป็นพวกที่มีลำต้นและใบอ่อนนิ่ม ต้นไม่โตนัก เช่น หญ้าขน เนเปียร์ รูซี่ แพงโกลา เฮมิลฯลฯ
  • พืชตระกูลถั่ว ทั้งถั่วกอตั้งและถั่วต้นเลื้อย และไม้ยืนต้นกระกูลถั่ว เช่น ถั่วลาย ถั่วฮามาต้า กระถิน และแคไทย อาจจะปลูกพืชตระกูลถั่วปนหญ้าชนิดอื่น หรือปลูกแต่ถั่วแล้วตัดมัดเป็นฟ่อน ๆ ให้แพะกินก็ได้
  • ไม้พุ่มและไม้อื่น ๆ เช่น มันสำปะหลัง กล้วย ต้นหม่อนไทย พุทธรักษา พู่ระหง และผักต่าง ๆ นอกจากนี้แพะยังชอบกินใบทองหลาง มะขามเทศ โสน และเถามันเทศ ฯลฯ
  • พืชแห้งหรือพืชหมัก  โดยปกติแล้วไม่นิยมให้แพะกินอาหารพืชหมัก เนื่องจากมีน้ำปนอยู่มากถึง 70-80% ถ้าให้แพะกินพืชหมัก 1.5-2 กิโลกรัม เท่ากับกินหญ้าแห้ง 0.5 กิโลกรัม จึงจะแทนกันได้
  • แพะที่โตเต็มที่จะกินพืชหมักได้มากที่สุดวันละ 1-3 กิโลกรัม อย่าให้อาหารพืชหมักเลี้ยงลูกแพะ เพราะจะทำให้ท้องเสียได้ง่าย รอจนกระทั่งอวัยวะระบบย่อยอาหารสามารถทำงานได้เต็มที่แล้วจึงจะให้กินได้

ปริมาณโปรตีนในหญ้าแต่ล่ะชนิด

  • หญ้าขน (Brachiaria mutica) ปริมาณโปรตีนเฉลี่ยประมาณ 7.2 เปอร์เซ็นต์
  • หญ้าเนเปียร์ (Pennisetum purpureum) มีโปรตีนประมาณ 8–10 เปอร์เซ็นต์
  • หญ้ารูซี่ (Ruzi Grass) มีปริมาณโปรตีนประมาณ 8.2 เปอร์เซ็นต์
  • หญ้าแพงโกลา (Pangola grass) มีปริมาณโปรตีน 7-11 เปอร์เซ็นต์
  • หญ้ากินนีสีม่วง (Purple guinea) มีโปรตีนประมาณ 8–10 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักแห้ง

อาหาร TMR แพะเนื้อ แพะนม แพะขุน

“TMR ย่อมาจาก Total mixed ration” คือ อาหารผสมสำเร็จรูปที่เกิดขึ้นจากการนำเอาอาหารหยาบ และอาหารข้นมาผสมกัน ในอัตราส่วนที่เราต้องการ โดยจะต้องคำนวณหาสัดส่วนของอาหารหยาบ และอาหารข้นจากน้ำหนักแห้งให้ได้ตามความต้องการของแพะ

ทำไมต้องให้อาหารในรูปแบบ TMR

ในแพะ ความเป็น กรด-ด่าง (pH) ในกระเพาะรูเมนมีความสำคัญต่อขบวนการย่อยอาหารการควบคุมให้ความเป็น กรด-ด่าง ช่วงของความเป็น กรด-ด่างที่เหมาะสมควรเป็น 6.0-6.5 ความเป็นกรด-ด่างนี้จะมีผลโดยตรงมาจากอาหาร ถ้าให้แพะได้กินอาหาร แบบแยกกันระหว่างอาหารหยาบ และอาหารข้น ความเป็นกรด-ด่างในรูเมนจะเปลี่ยนแปลงไปตามอาหารที่ให้ตลอดเวลา

แพะกินอาหารข้นในปริมาณมากจะเกิดอะไรขึ้น?

ถ้าให้แพะกินอาหารข้นมากเกินไป ซึ่งปกติในอาหารข้นจะมีพลังงานที่ย่อยได้สูง สภาพในกระเพาะรูเมนจะเป็นกรดมีความเป็นกรด-ด่างต่ำลง ถ้าให้อาหารข้นปริมาณมากโอกาสที่กระเพาะรูเมนจะเป็นกรดมากขึ้น ถ้าความเป็นกรด-ด่างต่ำ แพะจะมีประสิทธิภาพการใช้อาหารลดลง

การให้อาหารในรูปแบบ TMR ดีอย่างไร?

การให้อาหารในรูปของอาหาร TMR (อาหารหยาบผสมอาหารข้น หรืออาหารสำเร็จรูป) เป็นวิธีหนึ่งจะสามารถควบคุมระดับความเป็นกรด-ด่างในกระเพาะรูเมนให้คงที่ได้ดีกว่าการให้อาหารในรูปแบบที่ให้แยกกัน

อาหาร TMR ที่มีคุณภาพที่ดี

อาหาร TMR ที่มีคุณภาพที่ดีจะต้องประกอบด้วยอาหารหยาบ และอาหารข้นในสัดส่วนที่เหมาะสมควรมีระดับพลังงาน และโปรตีนครบตามความต้อง การของสัตว์ระยะต่าง ๆ โดยคำนวณจากน้ำหนักแห้งตามอายุ คุณภาพของอาหารหยาบ และอาหารข้นต้องมีคุณภาพดี มีการกระจายตัวของอาหารข้น อาหารหยาบอย่างเสมำเสมอ ไม่มีเชื้อรา มีกลิ่นหอม และมีความน่ากิน

อาหาร TMR คุณภาพต่ำไม่มีคุณภาพจะส่งผลกระทบต่อแพะอย่างไร?

อาหาร TMR ถ้ามีคุณภาพต่ำจะไม่ช่วยให้การใช้ประโยชน์ของอาหาร TMR สูงสุด ไม่มีการกระจายตัวของอาหารหยาบ และอาหารข้นกระจายตัวไม่สม่ำเสมอทั่วถึง สภาพอาหารมีเชื้อรา ไม่มีกลิ่นหอม และไม่มีความน่ากิน ไม่เป็นที่สนใจของแพะ

วัตถุดิบผสมอาหาร TMR

ในการประกอบสูตรอาหาร TMR ต้องใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีคุณสมบัติที่ดี เช่นเดียวกับการประกอบสูตรอาหารข้น อาหาร TMR ที่ดีจะต้องประกอบด้วย

  • อาหารข้น แหล่งอาหารโปรตีน เช่น พวกกากถั่วเหลืองๆ กากเมล็ดทานตะวัน กากงา กากเมล็ดฝ้าย ใบพืชโปรตีนสูง เช่น ใบกระถินแห้ง ใบมันสำประหลังแห้ง เป็นต้น แหล่งอาหารพลังงาน เช่น มันเส้น ข้าวโพด รำ ข้าวฟ่าง เป็นต้น
  • อาหารหยาบ พืชอาหารสัตว์ได้ทุกชนิด และเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่เยื่อใยสูง เช่น หญ้าขน หญ้าเนเปียร์ ฟางข้าว และอื่น ๆ อาหารหยาบที่ใช้ควรมีคุณภาพที่ดีมีศักยภาพในด้านการย่อยได้ และอัตราการย่อยได้สูง
  • แร่ธาตุ ได้แก่ กระดูก เปลือกหอย เกลือ ไดแคลเซียมฟอสเฟต วิตามินต่าง ๆ เป็นต้น

ทำไมต้องให้แพะกินอาหาร TMR

การให้แพะกินอาหาร TMR หรือ Complete feed นี้เป็นการรวมทั้งอาหารหยาบ อาหารข้น และอาหารเสริมแร่ธาตุ และวิตามินเข้าด้วยกัน โดยคำนวณให้มีโภชนะ ต่าง ๆ เพียงพอตามความต้องการของแพะ การให้อาหารแบบนี้จะช่วยให้ง่ายต่อการจัดการประหยัดเวลา แรงงาน อาหารมีกลิ่นหอม มีความน่ากิน และที่สำคัญช่วยในเรื่องการรักษาสมดุลความเป็น กรด-ด่าง (pH) ในกระเพาะรูเมนของแพะ

ความต้องการโปรตีนของแพะแต่ล่ะช่วงอายุ

โดยทั่วไปในการคำนวณสูตรอาหารแพะ จะต้องคำนึงถึง โปรตีน พลังงาน และแร่ธาตุต่าง ๆ โดยโปรตีนจะถูกนำมาใช้ในการคำนวณเป็นหลักในสูตรอาหารแพะ เพราะว่า โปรตีน” คือ สารอาหารที่ให้พลังงานที่จำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย การดำรงชีวิต และมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของแพะ

  • แพะท้อง แพะเลี้ยงลูก โปรตีนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 14-16 %
  • ลูกแพะหย่านม โปรตีนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 16-18 %
  • แพะรุ่น แพะขุน โปรตีนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 14 %

 

ตารางแสดงตัวอย่างสูตรอาหารตาม % โปรตีน ต่อ อาหาร 100 กก.

วัตถุดิบอาหาร สูตรที่ 1

โปรตีน 18 % (กก.)

สูตรที่ 2

โปรตีน 16 % (กก.)

สูตรที่ 3

โปรตีน 14 % (กก.)

มันเส้นบด 10 15 20
ข้าวโพดบด 40 35 35
ปลายข้าว 10 15 15
รำละเอียด 5 5 5
กากถั่วเหลือง 44% 30 25 20
ไดแคลเซียมฟอสเฟส P14 2.5 2.5 2.5
เกลือ 2 2 2
พรีมิกซ์ 0.5 0.5 0.5
รวม 100 100 100

 

สูตรอาหารแพะพ่อ-แม่พันธุ์ โปรตีนร้อยละ 14%

  • มันเส้นบด      30 กก.
  • ข้าวโพดบด    20 กก.
  • กากถั่วเหลือง 20 กก.
  • กากปาล์ม      20 กก.
  • รำละเอียด      5  กก.
  • เกลือ              2   กก.
  • ไดแคลเซียม 2.5 กก.
  • พรีมิกซ์         0.5 กก.

การให้อาหารแพะพ่อ-แม่พันธุ์

แพะพ่อ-แม่พันธุ์ ให้กินหญ้าในแปลงอย่างเดียวก็พอแล้วถ้าไม่มีแปลงหญ้าคุณภาพดี อาจใช้หญ้าแห้งคุณภาพดีเลี้ยงแทนแต่ควรให้อาหารข้น เสริมด้วย ประมาณวันละ  0.7  กก.

สูรอาหารแพะรุ่น-ขุน โปรตีนร้อยละ 16%

  • มันเส้นบด      20 กก.
  • ข้าวโพดบด    15 กก.
  • ปลายข้าว      15 กก.
  • กากถั่วเหลือง 25 กก.
  • กากปาล์ม      15 กก.
  • รำละเอียด      5  กก.
  • เกลือ              2   กก.
  • ไดแคลเซียม 2.5 กก.
  • พรีมิกซ์        0.5 กก.

การให้อาหารแพะรุ่น-ขุน

แพะรุ่นควรให้อาหารในปริมาณที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตสร้างความเจริญเติบโต ถ้ามีอาหารหยาบคุณภาพดี มีพื้นที่มากพอให้แพะรุ่นได้ออกกำลังกายจะช่วยเสริมสร้างให้แพะรุ่นโตเร็วขึ้นและควรให้อาหารข้นร่วมด้วยประมาณ 0.12-0.7 กก.

สูตรอาหารลูกแพะหย่านม โปรตีนร้อยละ 18%

  • มันเส้นบด      15 กก.
  • ข้าวโพดบด    20 กก.
  • ปลายข้าว      15 กก.
  • กากถั่วเหลือง 30 กก.
  • กากปาล์ม      10 กก.
  • รำละเอียด      5  กก.
  • เกลือ             2   กก.
  • ไดแคลเซียม 2.5 กก.
  • พรีมิกซ์        0.5 กก.

การให้อาหารลูกแพะหย่านม

ลูกแพะตั้งแต่แรกเกิดจนถึงหย่านมสามารถเลี้ยงโดยให้ดูดนมแม่โดยตรง หรือเลี้ยงด้วยนมเทียม  แต่จะโดยวิธีใดก็ตามลูกแพะต้องได้รับนมน้ำเหลืองจากแม่นานประมาณ  3-4  วันในกรณีที่นมแพะขายได้ราคาดีผู้เลี้ยงก็ควรจะให้ลูกแพะกินนมเทียมแทน การเลี้ยงแพะโดยนมเทียมอาจใช้วิธีให้ดูดจากขวดหรือใส่ภาชนะให้เลียกิน

การฝึกหัดควรทำตั้งแต่แรกเกิดใหม่ๆ  ก่อนที่ลูกแพะจะดูดนมจากเต้าแม่เป็นนั่นคือแยกลูกจากแม่ทันทีที่คลอดแล้วรีดนมน้ำเหลืองจากแม่ใส่ขวดแล้วป้อนลูกแพะ  ทำเช่นนี้  3-4  วัน  จึงเริ่มเปลี่ยนจากนมแม่เป็นนมเทียมต่อไป

สูตรอาหารแพะนม

  • มันเส้นบด      15 กก.
  • ข้าวโพดบด    25 กก.
  • ปลายข้าว      10 กก.
  • กากถั่วเหลือง 30 กก.
  • กากปาล์ม      10 กก.
  • รำละเอียด      5  กก.
  • เกลือ              2   กก.
  • ไดแคลเซียม  2.5 กก.
  • พรีมิกซ์         0.5 กก.

การให้อาหารแพะนม

  • แพะให้นมควรให้อาหารที่มีโปรตีน  16-18%  วันละประมาณ  0.3-0.5  กก./ปริมาณน้ำนม
  • ที่ได้  1  กิโลกรัม  แต่ถ้าหากมีแปลงหญ้าให้ปล่อยแพะแทะเล็ม ก็สามารถลดอาหารลงได้ครึ่งหนึ่ง

อาหารแพะลดต้นทุน

การใช้หยวกกล้วยเลี้ยงแพะ

วิธีนี้ที่ช่วยประหยัดต้นทุนได้กว่าครึ่ง และเป็นสูตรอาหารที่หาวัสดุได้ง่ายในท้องถิ่น วิธีทำง่าย ๆ นำหยวกกล้วยผสมเข้ากับอาหารข้น ในอัตราส่วนดังนี้ หยวกกล้วย 1 ส่วน ต่อ อาหารข้น 1 ส่วน หรือ หยวกกล้วย 2 ส่วน ต่อ อาหารข้น 1 ส่วน ผสมให้เข้ากัน แล้วนำไปให้แพะกิน

 

การใช้ใบกระถินเลี้ยงแพะ

กระถินเป็นไม้ที่ปลูกง่ายโตเร็ว มีโปรตีนและแร่ธาตุสูง ในการนำกระถินมาใช้เลี้ยงแพะ ไม่ค่อยพบปัญหาอะไรหากนำมาใช้เป็นอาหารเสริม ด้วยการบดป่นทั้งกิ่ง และใบหรือตัดเป็นกิ่งใหญ่ ใส่ในคอกให้แพะกิน จะช่วยให้แพะมีสุขภาพที่ดี แข็งแรง โตไว

 

การใช้ทางปาล์มน้ำมันเลี้ยงแพะ

เป็นอีกหนี่งวิธีที่ช่วยประหยัดต้นทุน เหมาะสำหรับเกษตรกรภาคใต้ที่มีสวนปาล์ม หรืออยู่ไกล้สวนปาล์ม การเลี้ยงแพะโดยวิธีนี้ จะช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนค่าอาหารข้นได้ค่อนข้างมาก แพะก็มีการเจริญเติบโตดี และยังช่วยลดโรคที่เกิดจากพยาธิต่าง ๆ ได้อีกด้วย

การใช้ขี้เค้กปาล์มน้ำมันเลี้ยงแพะ

การใช้ขี้เค้กของปาล์มน้ำมัน ที่ผ่านกระบวนการหีบน้ำมันออกแล้ว มาใช้เลี้ยง เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยลดต้นทุนในเรื่องอากหารแพะ ซึ่งให้ผลดีในเรื่องการเจริญเติบโต และยังเสริมภูมิคุ้มกันต้านทานโรคได้ด้วย

การใช้ผิวถั่วเหลืองโม่เลี้ยงแพะ

ผิวถั่วโม่มีโปรตีนและสารอาหารที่สำคัญสูง การนำมาใช้เลี้ยงแพะเนื้อจะทำให้แพะเจริญเติบโต แข็งแรงดีได้เนื้อแพะสวย ทานอร่อยได้คุณภาพดี

การใช้มันสำปะหลังเลี้ยงแพะ 

สูตรนี้จะทำให้แพะได้รับสารอาหารเพียงพอต่อความต้องการ สามารถนำมันสำปะหลังไปผสมในสูตรอาหารให้แพะกิน ได้ถึง 40% สูตรนี้ทำให้แพะอ้วน เจริญเติบโตได้ดี

การใช้ต้นข้าวโพดเลี้ยงแพะ

เป็นการเพิ่มโปรตีนให้กับแพะเนื้อ แพะเจริญเติบโตดี อัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นน้ำหนักดี และสามารถช่วยลดต้นทุนได้สูงเกือบ 2 เท่า

การใช้หญ้าหมักเกลือเลี้ยงแพะ

การทำหญ้าหมักเกลือ เป็นวิธีหนึ่งของการถนอมอาหารของแพะ ให้สามารถเก็บไว้ได้นาน และเป็นอาหารที่มีโปรตีนเทียบเท่ากับอาหารข้นด้วย

วิธีการทำหญ้าหมักเกลือ

  1. หญ้าขน หญ้าคา กระถิน ต้นข้าวโพด มันสำปะหลัง ใบปาล์มน้ำมัน ใบอ้อย และอื่น ๆ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือผสมกันก็ได้ 10 ส่วน
  2. เกลือเม็ด 1 ส่วน แบ่งเกลือ จาก 1 กิโลกรัม ออก เป็น 4 ส่วน
  3. นำหญ้า หรือ วัตถุดิบในข้อ 1 มาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ จากนั้นโรยเกลือส่วนที่ 1 ลงไปให้ทั่วก้นถังหมัก
  4. ใส่หญ้าลงไปให้เต็ม ขึ้นเหยียบหญ้าให้ยุบตัวจะทำให้หญ้ายุบตัวลงไปอยู่ที่ครึ่งถัง โรยเกลือส่วนที่ 2 ลงไปให้ทั่ว ใส่หญ้าส่วนที่เหลือลงไปให้เต็ม ขึ้นเหยียบให้แน่น
  5. สุดท้ายใส่เกลือส่วนที่เหลืออีก 2 ส่วน ให้ทั่ว แล้วปิดถังให้แน่น หมักทิ้งไว้ 21 วัน ก็สามารถนำมาใช้ได้เลี้ยงแพะได้ โดยนำไปให้แพะกินวันละ 2 มื้อ เช้า-เย็น การทำหญ้าหมักเกลือสามารถเก็บไว้ใช้ได้นานถึง 1 ปี