อาหารหยาบแพะ พืชและใบไม้ที่แพะกินได้ แพะกินหญ้าอะไรบ้าง แพะกินอะไรถึงอ้วน แพะกินอาหาราวันละกี่กิโลกรัม

อาหารหยาบแพะคืออะไร?

อาหารหยาบแพะ คือ พืช หญ้า ใบไม้ เกือบทุกชนิดเลยก็ว่าได้ และผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว เปลือกข้าวโพด ต้นข้าวโพด หญ้าหมัก และอื่น ๆ อีกมากมายเยอะแยะไปหมด

อาหารหยาบแพะ ถือเป็นอาหารหลักที่สำคัญของแพะ โดยอาหารหยาบจะเป็นอาหารที่ให้เยื่อใยสูง เพราะว่า จากพืช หญ้า ใบไม้ เช่น หญ้าสด หญ้าแห้ง พืชตระกูลถั่ว ใบไม้ พืช ต่าง ๆ ผลพลอยได้หรือเศษเหลือ
จากการเกษตร เช่น ฟางข้าว เปลือกข้าวโพด ต้นข้าวโพดหลังจากเก็บฝัก เปลือกสับปะรด เปลือกถั่ว
เหลือง และเปลือกถั่วลิสง เป็นต้น

การเลี้ยงแพะมีแหล่งของอาหารหยาบอยู่ 2 แหล่ง ดังนี้

แปลงหญ้าธรรมชาติ เป็นวิธีที่นิยมของเกษตรกรผู้ที่เลี้ยงแพะ แพะแบบปล่อยเลี้ยงเป็นฝูงให้หากินเอง เลี้ยงแบบนี้ถือว่ามีคุณภาพต่ำ คุณค่าทางโภชนะอาจจะไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของแพะ จึงมักพบว่าแพะให้ลูกน้อยและมีอัตราการตายสูง โตช้า (อัตราการเจริญเติบโตอยู่ที่วันละ 13 กรัม/วัน) เมื่อเปรียบเทียบกับแพะในกลุ่มที่ ได้รับอาหารคุณภาพดีจะมีอัตราการเจริญเติบโตวันละ 50-100 กรัม/วัน

แปลงหญ้าปลูก เป็นแปลงหญ้าที่เกษตรกรปลูกหญ้าขึ้นเองทำให้มีความสะดวกในการควบคุมคุณภาพของแปลงหญ้าได้ โดยการเลือกชนิดของหญ้าที่มีคุณค่าทางอาหาร มีความน่ากินสูง เช่น หญ้าเนเปียร์
หญ้าขน หญ้าแทงโกล่า เป็นต้น

การเพิ่มคุณค่าทางสารอาหารของแปลงหญ้าที่ปลูก

คือ การปลูกพืชตระกูลถั่วผสมในแปลงหญ้า เช่น ถั่วสฮามาต้า ถั่วลาย เป็นต้น ควรจะมีการจัดการแปลงหญ้าให้มีอายุการใช้งานนาน โดยการจัดปล่อยลงแทะเล็มของแพะให้เป็นสัดส่วน หมุนเวียนการปล่อยแปลง หรือจะถนอมแปลงหญ้าไว้โดยการตัดหญ้ามาให้แพะกินในคอก เพราะแพะเป็นสัตว์ที่มีความสามารถในการแทะเล็มเก่ง และจะกินหญ้าได้เกือบทั้งหมดทุกส่วนของต้นหญ้า หรือต้นไม้ ทำให้ต้นหญ้า และแปลงหญ้าที่ปล่อยให้แพะลงแทะ
เล็มนั้น ทำให้หญ้าหมดเร็ว มีอายุการใช้งานที่สั้นลง

พืชและใบไม้ที่แพะกินได้

พืชและใบไม้ที่เป็นอาหารแพะ มีทั้งส่วนที่เป็นใบ และลำต้น มีทั้งพืชที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ และปลูกขึ้นมา เช่น หญ้าปากควาย หญ้าเพ็ก และถั่วลิสงนา หรือพืชที่ปลูกในทุ่งสำหรับเลี้ยงสัตว์ เช่น หญ้าเนเปียร์ หญ้ากินนี หญ้าขน ถั่วฮามาตา และถั่วลาย หรือไม้ยืนต้น เช่น กระถิน ทองหลาง และแค เป็นต้น

พืชและใบไม้ที่แพะกินได้แบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้

  • พืชตระกูลหญ้า
  • พืชตระกูลถั่ว
  • พืชในกลุ่มไม้ยืนต้น

พืชตระกูลหญ้า มีหญ้าฤดูเดียว เช่น หญ้าปากควาย ต้นข้าวโพด ข้าวฟ่าง หญ้านกสีชมพู หญ้าต้นติด หญ้าไข่มุก หญ้าข้าวผี และหญ้าอายุมากกว่า 1 ปี เช่น หญ้าขน หญ้ากินนี เนเปียร์ รูซี ชันกาด หญ้าปล้อง หญ้าซิกแนล และหญ้าโรค เป็นต้น หญ้าอายุหลายปีนี้ มีชีวิตอยู่ได้มากกว่า 5 ปี

พืชตระกูลถั่ว มีถั่วอายุปีเดียว เช่น ถั่วลิสงนา ถั่วแปบ ถั่วมะแฮะ และถั่วอายุมากกว่า 1 ปี เช่น ถั่วฮามาตา ถั่วคนทิดิน ถั่วลาย ถั่วสไตโล และถั่วเซอราโตร เป็นต้น พืชในวงศ์ถั่วเป็นแหล่งโปรตีนของอาหารสัตว์

พืชในกลุ่มไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม หรือต้นไม้ใหญ่ ที่ใช้ใบเป็นอาหารสัตว์ได้ เช่น กระถิน ทองหลาง ต้นแค ประดู่ และแคฝรั่ง เป็นต้น ใบของพืชในกลุ่มนี้มีคุณค่าอาหารสูง เช่น โปรตีน ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 14 % ใช้เป็นอาหารเสริมโปรตีน ในช่วงฤดูแล้งได้ดี

ที่กล่าวมาเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็นพืชตระกูลหญ้า พืชตระกูลถั่ว และพืชในกลุ่มไม้ยืนต้น แค่เป็นส่วนหนึ่งที่ยกตัวอย่างขึ้นมา เพราะเป็นกลุ่มพืชหญ้า กลุ่มไม้ยืนต้นที่แพะชอบกิน และให้คุณค่าทางสารอาหารกับแพะที่สูง

แพะกินหญ้าอะไรบ้าง?

หญ้าที่แพะกินได้มีมากมายหลายชนิด ตัวอย่างคร่าว ๆ มีดังนี้

พืชอาหารสัตว์ในตระกูลหญ้า

หญ้าเพ็ก (Arundinaria pusilla)  หรือที่เรียกกันว่าไผ่เพ็ก เป็นหญ้าในกลุ่มไผ่อายุค้างปี หรือหลายปี ลักกษณะกอตั้งชัน สูง 60-80 ซม. มีลำต้นแข็ง มีคุณค่าทางอาหารคิดเป็นร้อยละ ดังนี้ ความชื้น 7.9% เถ้า 9.1% โปรตีน 10.4% กาก 26.0% แป้ง 44.3% และไขมัน 2.5% ค่าการย่อยได้ โดยคิดเป็นค่าอินทรียวัตถุที่ย่อยได้ร้อยละ 51.7%

หญ้าหนวดฤษีหรือหญ้าหนวดเสือ (Heteropogon contortus) เป็นหญ้าอายุหลายปี กอสูง 60-70 ซม. ใบเรียวยาว 15-20 ซม. กว้าง 0.5-0.6 ซม. ช่อดอกมีขนแหลมเป็นเสี้ยนยาวสีดำ เมื่อแก่จัดขนเหล่านี้ จะพันกันเป็นกระจุก คุณค่าอาหารเมื่อหญ้าอยู่ในระยะมีดอก คิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น 13.6% โปรตีน 3.5% ไขมัน 1.1% กาก 34.7% แป้ง 50.4% และเถ้า 6.6%

หญ้าปากควาย (Dactyloctenium aegyptium) เป็นหญ้าฤดูเดียว แตกเถ้าเลื้อยบนผิวดิน ต้นอวบน้ำ สูงไม่เกิน 40 ซม. ใบยาวประมาณ 4-5 ซม. กว้าง 1-1.3 ซม. ช่อดอกเป็นแฉก ๆ คล้ายตีนไก่ โตเร็ว มีคุณค่าอาหารคิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น 7.7% โปรตีน 8.9% ไขมัน 2.2% กาก 22.4% แป้ง 43.9% และแร่ธาตุ 14.6%

หญ้าขน (Brachiaria mutica) เป็นหญ้าอายุหลายปี มีเถาเลื้อย ลำต้นกลวง อวบน้ำใบขนาดกลาง ยาว 5-8 ซม. กว้าง 0.8-1.2 ซม. มีขนขาวๆ ปกคลุมกาบใบ และแผ่นหลังใบ ชอบขึ้นในที่ริมน้ำ ไม่ทนต่อการเหยียบย่ำ มีคุณค่าอาหารคิดเป็นร้อยละ ดังนี้ มีความชื้น 10.0% โปรตีน 9.5% ไขมัน 3.4% กาก 27.9% แป้ง 36.6% และแร่ธาตุ 13.0%

กระถินพื้นเมือง (Leucaena leucocephala) เป็นไม้ยืนต้นในวงศ์ถั่ว สูง 2.5-4 ม. แตกกิ่งก้านมากกว่ากระถินยักษ์ ใบเป็นแบบใบรวม แผ่นใบเป็นแผ่นเล็ก ๆ ยาว 1-1.2 ซม. กว้าง 0.4-0.5 ซม. ช่อดอกเป็นกระจุกคล้ายเม็ดกระดุม ใบเป็นแหล่งอาหารโปรตีน วิตามิน ใช้เลี้ยงสัตว์ได้ทุกชนิด โดยใช้ใบสด หรือใบกระถินป่น คุณค่าอาหารของกระถินพื้นเมือง คิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น 10.0% โปรตีน 23.5% ไขมัน 7.7% กาก 7.7% แป้ง 51.3% และแร่ธาตุ 9.7%

หญ้ารูซี หรือ หญ้าคองโก (Brachiaria ruziziensis) เป็นหญ้าอายุหลายปี กอสูง 50-60 ซม. ลักษณะใบคล้ายใบหญ้ามอริชัส ลำต้นเล็กกว่าและตัน ช่อดอกเป็นแฉกเรียงกัน 2 แถว ติดเมล็ดดีมาก ติดเมล็ดปีละครั้งในช่วงเดือนตุลาคม โตเร็ว ทนการเหยียบย่ำได้ดีกว่าหญ้ามอริชัส คุณค่าอาหารคิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น 8.7% โปรตีน 10.8% ไขมัน 2.4% กาก 23.1% แป้ง 49.4% และแร่ธาตุ 5.3% ไม่ควรใช้เลี้ยงแกะ เนื่องจากแกะแพ้สารบางอย่างที่มีในหญ้าชนิดนี้ ทำให้ตับพิการและตายได้

หญ้ากินนี (Panicum maximum) เป็นหญ้าอายุหลายปี แตกกอและใบเล็ก ยาวคล้ายกับกอตะไคร้ แต่ต้นสูงกว่ามาก สูง 1-1.4 ม. ช่อดอกบานใหญ่ 14-20 ซม. เมล็ดเล็กมาก ขนาดโตกว่าเข็มหมุดประมาณ 1 เท่า คุณค่าอาหารคิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น 9.8% โปรตีน 9.5% ไขมัน 1.9% กาก 25.9% แป้ง 41.7% และแร่ธาตุ 11.0% นอกจากนั้น หญ้าในกลุ่มหญ้ากินนี มีหญ้ากินนีสีม่วง หญ้าแกตตันแพนิค ซึ่งใช้ทำทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ได้ดี

หญ้าเฮมิล (Panicum maximum var.Hamil) เป็นหญ้าในกลุ่มหญ้ากินนีอายุหลายปี ต้นโตสูงกว่าหญ้ากินนี สูงประมาณ 1.4-1.8 ม. ใบและช่อดอกใหญ่กว่าหญ้ากินนี ช่อดอกยาว 20-25 ซม. ใบสีเขียวแก่กว่าใบหญ้ากินนี ติดเมล็ดได้ดีกว่า ทนต่อการเหยียบย่ำน้อยกว่าหญ้ากินนี การปลูกใช้เมล็ดในอัตรา 1.5-2 กก.ต่อไร่ หรือแยกหน่อปลูกก็ได้ คุณค่าอาหารคิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น 8.6% โปรตีน 4.1% ไขมัน 1.7% กาก 30.6% แป้ง 45.7% และแร่ธาตุ 8.1%

หญ้าเนเปียร์ (Pennisetum purpureum) เป็นหญ้าอายุหลายปี กอสูงคล้ายอ้อย สูงประมาณ 1.6-1.9 ม. ช่อดอกสีน้ำตาลเหลือง เป็นรูปทรงกระบอกคล้ายหางกระรอก ใช้ปลูกทำทุ่ง สำหรับตัดเลี้ยงสัตว์ ไม่ทนต่อการเหยียบย่ำ ไม่ติดเมล็ด ดังนั้นการปลูก จึงใช้วิธีตัดลำต้นชำ ชำห่างกันหลุมละ 50 ซม. ตัดเลี้ยงสัตว์ได้ หลังจากงอกประมาณ 70-80 วัน หลังจากนั้นตัดได้ทุก 40-55 วัน ใช้ทำหญ้าหมักได้ดี คุณค่าอาหารคิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น 9.7% โปรตีน 11.3% ไขมัน 2.3% กาก 21.6% แป้ง 41.1% และแร่ธาตุ 13.8%

หญ้าแพนโกลา (Digitaria decumbens) เป็นหญ้าอายุหลายปี มีเถาเลื้อยคลุมดิน ต้นสูงประมาณ 35 ซม. ใบดก ยาว 12-16 ซม. กว้าง 0.4-0.5 มม. แตกรากตามข้อ ทำให้แพร่คลุมดินอย่างหนาแน่น เหมาะสำหรับปลูกทำทุ่งปล่อยสัตว์แทะเล็ม และอนุรักษ์ดินหรือตัดทำหญ้าแห้ง ใช้เถาขยายพันธุ์ โดยปลูกห่างกันหลุมละ 30-40 ซม. ชอบขึ้นในที่ดอน ดินอุดมคิดเป็นร้อยละ ดังนี้ ความชื้น 9.2% โปรตีน 5.6% ไขมัน 2.2% กาก 26.5% แป้ง 48.0% และแร่ธาตุ 8.1%

ต้นข้าวโพด ก็ใช้ปลูกตัดเลี้ยงสัตว์ได้ดี คุณค่าอาหารสูง ย่อยได้ดี ปัจจุบันเกษตรกรใช้ต้นและเศษต้นข้าวโพดฝักอ่อนเลี้ยงโคนม โดยเกษตรกรปลูกเอง หรือรับซื้อจากผู้ปลูกอื่น ๆ ที่ปลูกข้าวโพด

พืชอาหารสัตว์ในตระกูลถั่ว

มีทั้ง พันธุ์ไม้ล้มลุก และไม้ยืนต้น เป็นแหล่งอาหาร โปรตีน และบำรุงดิน มีพันธุ์ที่ส่งเสริมให้ใช้ใน การปลูกทำทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ดังนี้
ถั่วลาย (Centrosema pubescens) เป็นถั่วประเภทเลื้อย อายุหลาย ใบเป็นแบบใบรวมมี 3 ใบย่อย เถาเลื้อยคลุมดินหรือพันต้นพืชอื่นแบบเถาวัลย์ กลีบดอกสีม่วงเป็นช่อ ช่อละ 4-8 ดอก ใช้ปลูกปนกับหญ้าต่าง ๆ ได้หลายชนิด การปลูกใช้เมล็ดในอัตรา 2 กก.ต่อไร่ คุณค่าอาหารคิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น 8.9% โปรตีน 14.1% ไขมัน 2.0% กาก 30.3% แป้ง 37.8% และแร่ธาตุ 6.7%

ถั่วฮามาตา (Stylosanthes hamata) หรือถั่วเวอราโน อายุ 1-2 ปี เป็นถั่วพุ่มเตี้ย สูงประมาณ 30-40 ซม. ใบเป็นแบบใบรวมมีใบย่อย 3 ใบ ขนาดของใบย่อยยาว 2.5-3 ซม. กว้าง 0.4-0.5 ซม. ดอกรวมเป็นกระจุกสีเหลือง เมล็ดมีส่วนยื่นโผล่แบบ คุณค่าอาหารจากคิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น 10.4% โปรตีน 14.6% ไขมัน 2.1% กาก 26.6% แป้ง 37.7% และแร่ธาตุ 8.4%

ถั่วสไตโล (Stylosanthes guianensis) มีพันธุ์ต่าง ๆ คือ พันธุ์สโคฟิล พันธุ์เอนเดเวอร์ และพันธุ์เกรแฮมหรือแกรม เป็นถั่วอายุหลายปี พุ่มเตี้ย สูงประมาณ 50-60 ซม. ใบเป็นแบบรวม มีใบย่อย 3 ใบ ขนาดยาว 2.5-3.5 ซม. กว้าง 0.6-0.9 ซม. ดอกรวมเป็นกระจุกสีเหลือง ไม่มีส่วนยื่นเป็นตะขอเหมือนกับของเมล็ดถั่วฮามาตา คุณค่าอาหารจากคิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น 8.4% โปรตีน 16.8% ไขมัน 3.7% กาก 19.8% แป้ง 35.3% และแร่ธาตุ 15.8%

พืชอาหารสัตว์ในกลุ่มไม้ยืนต้น

พันธุ์ไม้ยืนต้นมีข้อดีสำหรับการใช้เป็นพืชอาหารสัตว์ คือ พืชกลุ่มนี้มีอายุใช้การได้นาน สามารถตัดใบมาเป็นอาหารสัตว์ได้เกือบตลอดปี เพราะทนต่อสภาพแล้งดีกว่าพันธุ์พืชอาหารสัตว์ประเภท พันธุ์ไม้ยืนต้น ที่ใช้เป็นอาหารสัตว์มีดังนี้

ต้นแค (Sesbania grandiflora) เป็นพืชในตระกูลถั่ว ใบมีคุณค่าอาหารสูง ใช้เลี้ยงสัตว์ได้ดี เป็นอาหารเสริมโปรตีนร่วมกับหญ้า คุณค่าอาหารของใบรวมกับก้าน คิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น 9.7% โปรตีน 27.8% ไขมัน 2.7% กาก 9.2% แป้ง 42.1% และแร่ ธาตุ 8.2%

 ถั่วแระต้น (Cajanus cajan) เป็นถั่วชนิดหนึ่ง ต้นเป็นพุ่มสูง 2.5-3 ม. เป็นอาหารเสริมโปรตีน กินร่วมกับหญ้า ใบมีคุณค่าอาหารสูง คุณค่าอาหารคิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น 7.5% โปรตีน 23.7% ไขมัน 5.1% กาก 13.9% แป้ง 42.4% และแร่ธาตุ 7.2%

ทองหลางป่า (Erythrina subumbrans) เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ จัดอยู่ในตระกูลถั่ว ใบเป็นแบบใบรวม มีใบย่อย 3 ใบ ให้กินร่วมกับหญ้า หรือพืชอื่น ๆ เป็นอาหารเสริมโปรตีนเป็นไม้โตเร็วชนิดหนึ่ง ปลูกง่าย โดยใช้กิ่งปักชำ คุณค่าอาหารคิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น 9.9% โปรตีน 13.3% ไขมัน 9.4% กาก 16.3% แป้ง 40.3% และแร่ธาตุ 11.9%

กระถินยักษ์ มีพันธุ์ไอวอรีโคสต์ และพันธุ์เอลซัลวาดอร์ ปลูกเพื่อเอาต้น เป็นไม้ใช้สอย ส่วนใบ ใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่นเดียวกับพันธุ์พื้นเมือง คุณค่าอาหารของกระถินยักษ์พันธุ์ไอวอรีโคสต์ คิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น 10.5% โปรตีน 22.9% ไขมัน 8.6% กาก 7.2% แป้ง 40.1% และแร่ธาตุ 10.5%

แพะกินอะไรถึงอ้วน?

หญ้าหรือใบไม้ทุกชนิดที่แพะกิน เลี้ยงแพะให้อ้วนได้หมด ไม่มีหญ้าหรือใบไม้ชนิดไหนที่แพะกินแล้วไม่อ้วน กินแล้วผอมลง การเลี้ยงแพะให้อ้วน แพะต้องได้กินอาหารตามความต้องการในแต่ละช่วงอายุ เช่น ลูกแพะจะต้องได้รับน้ำนมเพียงพอ มีอาหารข้นให้กิน มีหญ้าให้หัดกิน แพะรุ่น-ขุน ได้รับอาหารเพียงพอ อาหารข้นได้รับตามความต้องการมีสารอาหารครบถ้วน มีหญ้าให้กิน และเพียงพอ

“ตัวอย่างความต้องการของแพะตามน้ำหนัก” แพะน้ำหนัก 30 กก. ต้องการอาหาร 3% ของน้ำหนักตัวคิดอาหารเป็นวัตถุแห้ง แบ่งออกเป็นอาหารข้น 1% เท่ากับ 300 กรัมวัตถุแห้ง อาหารหยาบ 2% เท่ากับ 600 กรัมวัตถุแห้ง ความชื้นในหญ้าโดยทั่วไปมีความชื้นสูงถึง 80% เท่ากับว่า หญ้าสด 1 กก. ได้วัตถุแห้ง 200 กรัม เพราะฉะนั้น อาหารหยาบ 2% เท่ากับหญ้าสด 3 กก.

 

แพะกินอาหาราวันละกี่กิโลกรัม?

ความต้องการอาหารของแพะ

ความต้องการน้ำ แพะจำเป็นจะต้องได้รับน้ำอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะเมื่อแพะต้องกินอาหารหยาบแห้ง หรืออยู่ในวันที่อากาศร้อนจัด โดยทั่ว ๆ ไป แพะควรได้รับน้ำ 4–5 ส่วนต่อวัตถุแห้งที่กิน 1 ส่วน ดังนั้นควรจะจัดน้ำให้แพะตัวละ 1–2 ลิตรต่อวัน

การกินวัตถุแห้ง ปริมาณการกินอาหารของแพะขึ้นอยู่กับพันธุ์ (เนื้อหรือนม) แพะที่หนัก 10 – 30 กิโลกรัมจะต้องการวัตถุแห้งอยู่ระหว่าง 400– 1,200 กรัมต่อวันโดย แพะน้ำหนักมากกำลังเติบโต หรือกำลังให้นม ย่อมต้องการวัตถุแห้งมากขึ้นด้วย

  • แพะนมในเขตร้อนจะกินวัตถุแห้งเพียง 4–5% ของน้ำหนักตัว
  • แพะเนื้อในเขตร้อนจะกินวัตถุแห้ง ประมาณ 3% ของน้ำหนักตัว

ความต้องการพลังงาน โปรตีนและโภชนะ อื่น ๆ แพะต้องการพลังงานโปรตีน เพื่อการดำรงชีพและการเจริญเติบโต การผลิตนม แพะจำเป็นต้องได้รับแร่ธาตุและวิตามินสำหรับการดำรงชีพและการเจริญเติบโตตามความต้องการที่กำหนด

“พืชอาหารสัตว์ทั่วไจะมีแร่ธาตุอยู่ในระดับต่ำ หรือขาดแร่ธาตุที่จำเป็นบางชนิดสำหรับแพะ” โดยเฉพาะการขาดธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัส แพะที่ขาดธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัส จะทำให้การเจริญเติบโตลดลงกว่าปกติ กระดูกไม่แข็งแรง หรืออ่อนแอต่อโรคบางชนิด จึงควรให้แพะได้รับธาตุชนิดนี้ โดยการเติมลงไปในอาหาร

แร่ธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัส คือ กระดูกป่น เหลือกหอยป่น เนื้อป่น และเกลือแกง เป็นต้น

วิตามิน แพะจะต้องได้รับอย่างเพียงพอจากอาหารที่กินอยู่ปกติ หรือแพะอาจสังเคราะห์เองได้ แต่ในบางครั้งแพะก็อาจขาดได้ ผู้เลี้ยงจึงต้องจัดหาวิตามินให้แพะกินโดยเติมลงในสูตรอาหาร เช่น เกลือแร่ก้อนให้แพะเลียกินเองด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้แพะขาดวิตามิน